วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

นักบริหารกับความสำเร็จ

การบริหารงานตามแนวคิดในยุคปัจจุบัน    ความสำเร็จสูงสุดจะเกิดขึ้นได้ในหน่วยงานขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเหมาะสม  มีการบริหารงานตามแนวความคิดของกลุ่มมนุษยสัมพันธ์เป็นพื้นฐาน หน่วยงานหลายหน่วยที่ดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จเมื่อมองจากภายนอก  แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสอย่างใกล้ชิด  จะเห็นได้ว่าแท้จริงยังจะสามารถพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมากกว่านี้ถ้าได้นักบริหารที่ดีมีคุณภาพ  และความสำเร็จที่มองเห็นได้ก็เป็นเพียงชั่วคราว  เพราะได้ก่อให้เกิดปัญหาสะสมไว้รอวันที่จะปะทุออกมาในระยะยาว
                ปัญหาความมีประสิทธิภาพการบริหารงานในระบบราชการยังขาดมาตรฐานที่ใช้ในการชี้วัด  ทำให้หลายหน่วยงานสูญเสียโอกาสและเวลา  เพราะนักบริหารที่รับผิดชอบมิได้มุ่งมั่น  ปฏิบัติงานตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ และปลอดภัยไว้ก่อน  เปรียบเสมือนกับการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ  ซึ่งแตกต่างจากนักบริหารในระบบธุรกิจที่เล่นกีฬาเพื่อการแข่งขัน  มุ่งมั่นที่จะได้ชัยชนะ  และสนุกกับเกมส์อยู่ตลอดเวลา   ด้วยเหตุนี้เองที่นักบริหารในระบบธุรกิจจะต้องเป็นผู้มีประสิทธิผลสูง  และเข้าใจหัวใจสำคัญของความสำเร็จว่าต้องเริ่มต้นที่คน  ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน  เพราะในระบบราชการยังยึดติดกับการใช้อำนาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารงาน
                จากแนวความคิดที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมายในระบบราชการ  ทำให้นักบริหารประเมินค่าตัวเองผิด  มองข้ามการพัฒนาปรับปรุงตนเอง  ปฏิบัติตามกรอบความคิดและอุปนิสัยเดิมๆ ที่มีอยู่  เพราะมีความเชื่อว่าเท่านี้ก็เพียงพอในการบริหารงานแล้ว  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงของการบริหารงาน  มีปัจจัยของความสำเร็จหลายประการ  และสิ่งที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอก็คือ สิ่งที่อยู่ภายในของนักบริหารซึ่งดูเสมือนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ยิ่งใหญ่มหาศาล  เพราะส่งผลทางด้านจิตใจกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานมาก  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้
               1.  ความเป็นผู้นำ      นักบริหารกับความเป็นผู้นำต้องมาเป็นอันดับแรก  ซึ่งจะต้องกล้าคิด  กล้าทำ  กล้าตัดสินใจ  และกล้าที่จะรับผิดชอบ  พร้อมที่จะนำหน่วยงานก้าวไปข้างหน้า  แสวงหาความท้าทาย  เมื่อมีปัญหาหรือเกิดสถานการณ์ยุ่งยาก  นักบริหารจะต้องเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหากับเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด  มิใช่ทำตัวอยู่เหนือปัญหาและเอาตัวรอด
                 2.  ความรู้ความสามารถและปฏิภาณ       เป็นตัวชี้วัดศักยภาพของนักบริหารได้ค่อนข้างชัดเจน  เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ขอคำปรึกษา  ขอคำแนะนำ  และแนวทางการแก้ไขปัญหา  หรือไม่เมื่อผู้บริหารนั่งเป็นประธานในที่ประชุม  เหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถของผู้บริหาร  การยอมรับหรือไม่ยอมรับก็จะเกิดขึ้นติดตามมา  มีหลายๆ คนไขว่คว้าเพื่อก้าวขึ้นไปเป็นนักบริหาร  โดยลืมคิดไปว่าตนเองมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำงานได้หรือไม่
                 3.  วิธีการพูด      นักบริหารที่เก่งและเป็นคนดีหลายคนไม่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงาน  เพราะเมื่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่  ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี  คำพูดที่พูดออกไปขาดความน่าเชื่อถือ  ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดจิตวิทยาการพูด  จากสุภาษิตที่ว่าพูดดีเป็นศรีแก่ปากคงจะใช้ได้ตลอดไป  โดยเฉพาะกับนักบริหารที่คำพูดทุกคำจะได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่  ได้รับการจดจำเพื่อนำไปปฏิบัติ   ดังนั้น  ผู้บริหารต้องระมัดระวังไม่พูดด้วยอารมณ์  ซึ่งคำพูดที่ก่อให้เกิดปัญหาและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง  ได้แก่ลักษณะการพูดต่อไปนี้  พูดแบบคนบ้าอำนาจ  พูดด้วยคำหยาบ  พูดแบบประจานและดูถูกทับถม  พูดให้ร้าย  พูดอวดเก่ง อวดมี และอวดรวย  พูดแล้วตนเองไม่ปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง  เหล่านี้มีแต่สร้างความไม่สบายใจให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งนั้น
                 4.  ความจริงใจ      นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่แรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่เกิดความทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่  เพราะเมื่อทุกคนมองออกถึงความจริงใจของผู้บริหารก็จะเกิดความรักความศรัทธา  เพราะฉะนั้น  การทำงานอยู่ร่วมกันถ้าเพื่อเพียงแต่ทำไปโดยหน้าที่หรือเพื่อผลประโยชน์เท่านั้น  ความจริงใจก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  ดังนั้น  การที่คาดหวังให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นไปได้ยาก  อีกทั้ง ถ้าขาดความจริงใจซึ่งกันและกันจะเป็นจุดเปราะบาง  ที่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในหน่วยงานตามมาได้ง่าย
                 5.  ความมีเสน่ห์      จากคำพูดที่ว่าการเริ่มต้นดีก็ได้เปรียบไปแล้วครึ่งหนึ่งนั้น  เปรียบเสมือนกับผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดี  หน้าตาดี  พูดจาไพเราะ  แต่งกายสะอาดเรียบร้อย  มีมารยาทดี และมีมนุษยสัมพันธ์ดี เหล่านี้ก็ชนะใจเจ้าหน้าที่ไปบ้างแล้ว  ดังเช่นกับคนที่มีภรรยาสวยก็มีความภาคภูมิใจและอยากจะโชว์  ฉันใดก็ฉันนั้นกับผู้บริหารของหน่วยงานเช่นกัน
                แนวความคิดเกี่ยวกับการบริหารงานเป็นศาสตร์ที่ไม่รู้จบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเป็นมนุษย์  ซึ่งได้ถูกบรรจุสิ่งต่างๆ ไว้มากมายภายในตัว    ดังที่พูดกันว่า      สิ่งที่อยู่ข้างหลังเรา  และสิ่งที่อยู่ข้างหน้าเราไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก  เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา      ดังนั้น  นักบริหารควรย้อนกลับมามองตัวเอง  และยอมรับความจริง  มุ่งมั่นที่จะยกระดับให้เราเป็นนักบริหารมืออาชีพทันยุคปัจจุบัน
แหล่งที่มา :: http://skn-rsc.ricethailand.go.th/success.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น